สวัสดีครับ
** ก่อนหน้านี้ผมใช้ชื่อบทความนี้ว่า “6 ข้อ จับสัญญาณ/รับมือ แนวโน้มตลาดหมี หุ้นร่วง หุ้นตก (Bear Market) หรือตลาดกระทิง หุ้นขึ้น (Bull Market)” แต่ดูท่าคงไม่เหมาะเท่าไหร่ 555 เลยเปลี่ยนครับ **
วันที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้อยู่ วันที่ 23 มิ.ย. 2561 ช่วงนี้หลายๆท่านที่เล่นหุ้น อาจกำลังกังวลใจอยู่
บทความนี้ผมจะคุยถึงวิธีการดู Trend ตลาดปัจจุบันของผม เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่อยากเล่าให้ฟัง ซึ่งผมศึกษามาค่อนข้างยาวนาน ซึ่งไม่ได้เป็นแก้ววิเศษ ที่บอกได้ว่าตอนนี้ตลาดขาขึ้นหรือขาลงอย่างชัดเจน และอาจต้องใช้ความพินิจพิจารณาค่อนข้างมากในการซึมซับ แต่จะทำให้จับและรู้สึกได้คร่าวๆได้ว่า ตอนนี้สถานการณ์ตลาดมันเป็นยังไงบ้าง ไม่ว่าจะไปทางทางตลาดหมีตลาดหุ้นร่วง (Bearish) หรือ ตลาดกระทิงตลาดหุ้นขึ้น (Bullish) นะครับ
บทความนี้ผมมีหัวข้อที่ 6 ซึ่งอาจจะดูเน้นเรื่อง ตลาดหมี มากกว่า เพราะว่า ถ้าตลาดหุ้นขึ้น คนส่วนใหญ่ Happy ไม่ได้มีความจำเป็นต้องมาคิดมากครับ เลยตั้งชื่อบทความโดยเอาตลาดหมีขึ้น และเขียนโดยใช้ความรู้สึกเน้นที่ตลาดหมีครับ อย่าไรก็ตาม ผมต้องขอออกตัวก่อนครับว่า
- ผมไม่ได้ตั้งใจจะชี้นำทิศทางตลาดใดใด
- มีความเป็นไปได้ว่าข้อมูลจะมีส่วนผิดพลาด คือผมทำการเช็คข้อมูลค่อนข้างละเอียดแล้ว ตรงนี้ผมอาจต้องขออภัยในความผิดพลาดของข้อมูลบางส่วนล่วงหน้า และไม่อาจรับผิดชอบหากมีท่านใดนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
สิ่งเหล่านี้ ผมเขียนจากประสบการณ์ของผมที่พอจะออกมาเป็นหลักวิทย์ได้ ผมเล่นหุ้นถนัดสายพื้นฐานมากกว่าเทคนิค มุมมองที่ใช้จะเป็นมุมมองทางสถิติมากกว่าการเงิน และ จะเล่าถึงสิ่งที่เป็น “ส่วนมาก” นะครับ ดังนั้น อยากให้ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านอยู่ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการอ่านนะครับ ผมจะเขียนแบบซีเรียสและอาจดูอ้อมแม่น้ำ แต่อยากให้อ่านจนจบ เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกันหมดนะครับ ตอนนี้ขอเข้าเรื่องทั้ง 6 ข้อเลยนะครับ
… ก่อนอื่นผมขอสรุปประเด็นหัวข้อไว้ตรงนี้นะครับ …
(คือพอเขียนจบแล้วมาดู มันออกจะยาวอยู่ เลยขอเขียนไกด์ไลน์ก่อนเผื่อท่านเลือกอ่านดีกว่าครับ)
- หุ้นโลก VS. หุ้นไทย ใครไปทางไหน?
- มองพื้นฐานตลาดหุ้น ด้วย GDP แยกแยะข่าวดีข่าวร้ายให้ออก
- ดูค่า PE Ratio (price to earnings ratio) หรืออัตราส่วนอื่นๆของดัชนีรวมหุ้น
- สำหรับท่านที่เป็นสายพื้นฐาน อย่างน้อยอยากให้รู้จัก Technical Analysis สัก 2-3 ตัวครับ
- ขอแนะนำ Pring Turner’s 6 stages of business cycle วงจรเศรษฐกิจ / หุ้น / พันธบัตร / สินค้าโภคภัณฑ์
- รับมือตลาดหุ้น – มีแผนการเทรดที่ชัดเจน – วางแผนเผื่อพลาด หรือกำหนดจุด cut loss – และทำให้ได้
สุดท้ายจะเป็นบทสรุปเล็กน้อย
อธิบายอย่างนี้นะครับ
ข้อ 1-3 จะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์แบบพื้นฐาน สภาวะเศรษฐกิจและหุ้นและการ Prove วิธีการของผม โดยเฉพาะการได้ยินข่าวสารต่างๆ ว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร ทำไมผมดู GDP เป็นหลัก แล้วมันช่วยบอกอะไรได้บ้าง
ข้อ 4-5 พูดถึงตัวช่วยในการจับสัญญาณตลาด ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ อารมณ์ รอบ หรือ วงจรของหุ้น
ข้อ 6 ความสำคัญของการวางแผนเทรด รวมถึงตัวอย่างวิธีเตรียมใจ(เงิน)ง่ายๆหากเริ่มเล่นหุ้นครับ
ถ้าพร้อมแล้ว มาลงลึกกันทีละหัวข้อเลยครับ
1.หุ้นโลก VS. หุ้นไทย ใครไปทางไหน?
ตรงนี้อยากให้มาตั้งต้นกันก่อนว่า หุ้นไทยในยุคนี้ โดยมาก จะไหลไปตามกระแสหุ้นโลกครับ หากหุ้นทั่วโลกตก เป็นไปได้มากว่า หุ้นไทยจะร่วงตาม ดังนั้นอย่าต้านกระแสโลกในเวลาที่ทั่วโลกหุ้นตก (อย่างที่เค้าชอบพูดว่า Don’t fight the trend) แต่ก็ไม่ทุกกรณีนะครับ ที่ผมต้องพูดเรื่องนี้ก่อน เพราะว่า ผมค่อนข้างเชื่อว่า หลายๆท่านเวลาได้ยินข่าวดีหรือข่าวร้ายในเศรษฐกิจโลก เช่น สมมติมีข่าวว่าธนาคารใหญ่ของ US ล้มละลายทำให้หุ้นอเมริกาตก —> จะมีข่าวมากมายหรือมีคนวิเคราะห์ว่าหุ้นไทยจะตกด้วย……
แต่ข้อมูลหรือข่าวสารไหนที่เราควรเอามาคิด? รู้ไหมครับว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เราเกี่ยวพันกับอเมริกาขนาดนั้นเลยหรือ? แล้วประเทศอื่นๆล่ะ?
คำตอบคือ —> ผมไม่ไม่แน่ใจครับ …… ที่จริงผมหมายความว่าจะให้ผมตอบสนับสนุน หรือ คัดค้าน ก็ตอบได้ทั้งนั้นครับเพราะเหตุผลทั้ง 2 ด้านมันเยอะมากๆ
แต่นั่นมันไม่เป็นไร ดังนั้นผมจะแสดงให้เห็นประเด็นที่ว่า
“ถ้ามีข่าวที่ทำให้หุ้นประเทศ xx ตก แล้วหุ้นไทยจะตกด้วยไหม??”
นะครับ โดยผมจะใช้ Concept ตัวเลข Correlation มาพิสูจน์แบบหยาบๆเป็นหลัก (ท่านที่ไม่รู้จัก Concept ของ Correlation เดี๋ยวผมอธิบายต่อจากภาพนี้เลยนะครับ ง่ายมากๆครับ) ในรูปด้านล่าง (รูปที่ 1) ผมอยากจะเทียบ SET Index กับดัชนีประเทศอื่นๆว่าเคลื่อนไหวเป็นยังไง อันนี้ผมลองเลือกดัชนี ที่เป็นตัวแทน ตลาดใหญ่ๆ 3 ที่คือ USA (S&P500), Germany (DAX), Hongkong (HangSeng) นะครับ

จากรูปที่ 1 มันคือค่า Rolling Correlation รายเดือนแบบ 60 เดือนย้อนหลังโดยผมเอา SET Index มาหาค่านี้กับดัชนีหุ้นประเทศอื่นๆ โดยให้
- แกน Y เป็น ค่า Correlation
- แกน X เป็น เวลา
เช่น เอา SET Index คู่ กับ DAX ช่วง JAN2011 – DEC2015 จะได้ค่าออกมาที่จุด DAX = 0.72 บนรูป ที่เวลา DEC2015)
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2005 (ที่จริงคือตั้งแต่ประมาณปี 2001) จนถึงตอนนี้ ความสัมพันธ์ ของทั้ง SET Index ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ 3 ดัชนีนี้มาก หรือแปล่วว่า 3 ดัชนีนี้ไปทางไหน SET Index ก็มีแนวโน้มจะไปทางนั้นสูงนะครับ (ค่าแกว่งๆ ระหว่าง 0.4 – 0.9 )
ส่วนช่วงก่อนหน้านั้น ที่ค่า Correlation ดูจะไม่สัมพันธ์กัน เพราะว่า 1997 ประเทศไทยเกิดต้มยำกุ้ง แต่หุ้น US ยังวิ่งขึ้น และช่วงปี 2000 หู้น US เกิด dot com bubble แต่หุ้นไทยนิ่งครับ
** ความเห็นส่วนตัวนะครับ… บางท่านคิดว่า วิกฤตค่าเงินเอเชีย ช่วงปี 1997 ถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ระดับโลก …. ใช่ครับ มันเป็นอย่างนั้น แต่เนื่องจาก ประเทศเราเป็นประเทศเล็กๆ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และดีอยู่แล้วครับ นอกจากนี้ dotcom bubble ช่วงปี 2000 ก็ถือว่าแรงมากสำหรับ US เช่นกัน แต่ทำไมหุ้นไทยยังนิ่งๆ ผมคิดว่ามาจาก dotcom bubble มันเป็นฟองสบู่ในภาคเดียว แต่ไม่ได้ส่งผลถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ US เหมือน subprime …. จึงทำให้ไทยยังนิ่งอยู่ได้ วัดจาก GDP Growth ของ US ในช่วงนั้นครับ ว่ามันตก แต่ไม่หนักขนาด ติดลบ**
——-คั่นเรื่อง Correlation (เริ่ม)——-
สำหรับท่านที่ไม่รู้เรื่อง Concept ของ Correlation อยากให้ดูภาพข้างล่างครับ (ส่วนครึ่งล่างครับ)
เช่น ถ้า ปริมาณเหล้าที่กิน กับแอลกฮอล์ในเลือด มี correlation = 0.95 แปลว่า “ยิ่งกินเหล้ามากยิ่งมีแอกอฮล์ในเลือกสูงชัวร์ๆ” อันนี้ ผมไปเอามาจากบทความเก่าของผมเรื่อง ปัจจัยกระทบราคาทองนะครับ ตามลิงค์นี้นะครับ
https://gornnutagorn.com/2018/04/27/factors-influence-gold-price/
——–คั่นเรื่อง Correlation (จบ)——–
แต่เรื่องนี้ ก็มีข้อยกเว้นนะครับ ลองมาดูรูปต่อไปครับ (รูปที่ 2) มันคือค่า Rolling Correlation รายเดือนแบบ 60 เดือนย้อนหลังเหมือนเดิม โดยผมเพิ่มดัชนีหุ้นประเทศอื่นๆเพิ่ม คือ
- FTSE100 (UK)
- STI(Singapore)
- TOPIX(Japan)
- Shanghai Composite(China)

จะเห็นได้ว่า UK กับ Singapore ก็มี Correlation สูงแบบเป็นบวกหมายความว่าวิ่งไปด้วยกันกับ SET Index เช่นกันนะครับ แต่ลองมาดูค่า Correlation ดัชนีของ จีนและญี่ปุ่น จะพบว่ามันเคลื่อนไหวสะเปะสะปะนะครับ ซึ่งแปลได้ว่า ไม่สัมพันธ์กับหุ้นไทยเท่าไหร่ (นั่นแปลว่าอาจไม่สัมพันธ์กับหุ้นฝั่ง US EU เช่นกัน) ผมคิดว่าอันนี้ น่าจะเป็นเพราะความใหญ่และลักษณะเฉพาะของเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศนี้มากกว่าที่ทำให้มันเคลื่อนไหวแตกต่างออกมาครับ โดยความเห็นส่วนตัวคือ คือ
- จีน เป็นประเทศใหญ่มหาอำนาจ และเติบโตอย่างร้อนแรงมากติดต่อกันมานาน (GDP โตเฉลี่ย 10% ช่วง 2001-2011 และหลังจากนั้นมากกว่า 5% จนปัจจุบัน) รวมทั้งมีนโยบายที่ไม่ได้เคลื่อนไปตามโลกมากนักและที่สำคัญคือยังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed float) หรือยังแทรกแซงค่าเงินตัวเองอยู่นั่นเอง
- ญี่ปุ่น เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่นกัน แต่เศรษฐกิจซบเซามานานตั้งแต่ 1990s (คือตั้งแต่ 1992-2012 Nominal GDP (USD) – โตเฉลี่ยปีละไม่ถึง 1% – ผมใช้ Arithmetic Average)
ด้วยประเด็นดังกล่าว ผมคิดว่ารูปแบบการเคลื่อนที่ของเศรษฐกิจ 2 ประทศนี้ต่างจากชาวบ้านพอสมควร และเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ จึงทำให้ตลาดหุ้นเคลื่อนที่ต่างจากชาวบ้านเขาได้
*หมายเหตุ : ดัชนีทุกตัวที่ผมเอามาจะเป็น Capitalization-Weighted Index ยกเว้นตัว Shanghai Composite นะครับ
มาสรุปข้อ 1 อีกครั้งก่อนครับ ว่าสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือ
“ดัชนีตลาดหุ้นในเมืองไทย เป็นไปตามประเทศใหญ่ๆอื่นๆโดยเฉพาะฝั่งอเมริกาและยุโรป”
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะดูไม่ค่อยสัมพันธ์กับจีนและญี่ปุ่น แต่เราก็ต้องให้ความสำคัญกับมันเช่นกัน เพราะระบบเศรษฐกิจจะกระทบกันเป็นลูกโซ่ เช่น วันนึงเศรษฐกิจจีนแย่ (หุ้นจีนอาจจะตก) จนส่งผลให้การ Export ของ US ลดลง –> เศรษฐกิจ US แย่ลง —> หุ้น US ตก …..อันนี้สุดท้ายก็มากระทบเราอยู่ดีครับ
อันที่จริงๆผมเคยเทสกับหลายประเทศกว่านี้ มันก็ออกมาค่อนข้างสอดคล้องกัน ตรงนี้ผมหยิบมาไม่กี่ประเทศเพราะอยากให้ดูชัดๆครับ ถ้าท่านผู้อ่านอยากลองเทสเอง สามารถใช้โปรแกรม MS Excel ทำได้ง่ายๆโดยใช้สูตร =correl(array1,array2) นะครับ
คือเรื่องนี้สำคัญมากเมื่อใช้ร่วมกับข้อ 2 ที่ผมกำลังจะพูดต่อไป ในเรื่องที่ว่าปัจจัยตัวที่กระทบกับดัชนีหุ้นในประเทศส่วนใหญ่
2. มองพื้นฐานตลาดหุ้น ด้วย GDP แยกแยะข่าวดีข่าวร้ายให้ออก
ข้อนี้จะกลับมามองในมุมของพื้นฐานที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นนะครับ ก่อนอื่นผมจะขอแสดงให้เห็นก่อนว่า GDP และตลาดหุ้นในแต่ละประเทศ สัมพันธ์กันขนาดไหน (ที่จริงมี Economic Indicator ตัวอื่น เช่น ยอดค้าปลีก อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ ที่เกี่ยวกับตลาดหุ้นและน่าพูดถึงเยอะมาก แต่มันเยอะจนสามารถเขียนได้อีกบทความนึงเลย ผมจึงเอาตัวที่คนพูดถึงเยอะ / หาง่าย / ข่าวเยอะ และสำคัญมากๆเช่น GDP มาพูดก่อนครับ)
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นกับคำว่า GDP ผมขออธิบายหยาบๆอย่างเร็วนะครับด้วยสูตรคำนวณ การวัดด้านรายจ่าย ( Expenditure Approach) ตามรูปด้านล่างเลยนะครับ ส่วนถ้าอยากทราบเพิ่มเติมลอง google เพิ่มนะครับ
ตัวเลขที่เป็นพื้นฐานที่สุดในการบ่งบอกเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ คือ GDP ครับ ดังนั้น ดัชนีตลาดหุ้นซึ่งเป็นดัชนีในการสะท้อนมูลค่าของบริษัทใหญ่ๆในประเทศหนึ่งๆ ก็ควรจะเป็นไปตาม GDP เช่นกัน …. จริงอยู่ที่เงื่อนไขในแต่ละประเทศนั้น อาจจะไม่เหมือนกันซะหมด แต่เรามาดูกันครับว่าส่วนมากเป็นอย่างไร โดยผมจะใช้ตัวเลข Correlation ในการแสดงอีกครั้งนะครับ
** หมายเหตุ แต่ทั้งนี้ การที่ GDP โต อาจไม่ได้มีความหมายเชิงบวกเสมอไป สมมติตัวอย่างว่า การเพิ่มขึ้นของ GDP เกิดจากการก่อหนี้มหาศาลโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของประเทศหนึ่งๆ อันนี้ อันตรายมากเลยนะครับ
การที่จะรวบรวมตัวเลขดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกนั้นค่อนข้างยาก ผมจึงขอใช้ตัวแทน (Proxy) ที่ผมคิดว่าใกล้เคียงที่สุดและหาได้ง่ายที่สุดนะครับ ซึ่งก็คือ Market capitalization of listed domestic companies (current US$) ของแต่ละประเทศ …. เนื่องจากดัชนีจำนวนมากบนโลกนี้จะเป็น Capitalization-Weighted เช่น SET, S&P500, HangSeng การคำนวณมันก็เริ่มมาจากการหา Market Capitalization แล้วเอาไปถ่วงน้ำหนักครับ และยังมีดัชนีที่คำนวณด้วยวิธีอื่นๆเช่นแบบ Price-Weighted ก็จะมีเช่น Dow Jones นะครับ (ตรงนี้หากท่านผู้อ่านไม่เคยได้ยิน ขอฝากลองค้น Google ดูนะครับ) ผมจะขอแสดงให้เห็นก่อนนะครับว่า
“Market Capitalization… กับ Stock Index นั้นสัมพันธ์กันมากเพียงไร??”
โดยใช้ Concept ของ Correlation เหมือนเดิมนะครับ โดยผมยกตัวอย่างสัก 4 ประเทศตามรูปด้านล่าง (รูปที่ 3) นะครับ

จากรูปที่ 3 ทั้ง 4 ประเทศ มีค่า Correlation เกิน 0.8 ทั้งหมด คือแปลว่ามันสัมพันธ์กันมากครับ
ต่อมา ผมจะแสดงให้เห็นว่า
“Market capitalization of listed domestic companies (current US$) และ GDP (current US$) ของแต่ละประเทศสัมพันธ์กันมากเพียงไร??”
โดยใช้ Correlation นะครับ โดย GDP ที่ผมจะใช้จะเป็น GDP (current US$) หรือ GDP ในรูปเงิน USD แบบที่ไม่ปรับเงินเฟ้อนะครับ ผมไม่ใช้ Real GDP เพราะผมเห็นว่า Stock Index เองไม่เคยมีการปรับปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเช่นกันครับโดยผมจะโชว์ให้เห็นภาพก่อนด้วยตัวอย่างกราฟ 4 ประเทศเดิมตามรูปด้านล่างนะครับ (รูปที่ 4) หลังจากนั้นผมจะแปลผลจาก 75 ประเทศที่ผมรันนะครับ

ในตารางด้านล่างตาราง ผมสรุปการรันผลที่ใช้ข้อมูล World Bank จากกลุ่มตัวอย่าง 200 กว่าประเทศ คัดมาเหลือ 75 ประเทศ มีวิธีการเลือกดังนี้
- ใช้ข้อมูลรายปีตั้งแต่ 1993 – 2016
- ใช้ประเทศที่มีข้อมูลมากกว่า 10 ปีขึ้นไป (หลายๆประเทศข้อมูลมันขาดๆครับ)

จากการสรุปผล คือ เกิน 80% ของจำนวนประเทศตัวอย่างมีค่า Correlation มากกว่า 0.5 นะครับ โดยที่ค่ากลาง (Median) อยู่ที่ ค่า Correlation = 0.84 นะครับ สังเกตว่าผมไม่ใช้ mean เพราะว่าการกระจายของข้อมูลไม่ใช่ Normal Distribution นะครับ
ตรงนี้ก็พอสรุปได้ว่า
“ประเทศส่วนมาก ค่า Nominal GDP ไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นมากๆเลยนะครับ”
แล้วมันสำคัญยังไง?
ท่านอาจจะรู้อยู่แล้วว่า GDP บอกสภาพเศรษฐกิจประเทศก็ส่งผลถึงตลาดหุ้นเป็นธรรมดา แต่ผมต้องเขียนยาวยืดเพราะว่า ต้องการเน้นว่า
“วิเคราะห์ข้อมูลและข่าวสารโดยเน้นที่ข่าวที่กระทบตัว GDP เป็นหลัก”
ผมจะยกตัวอย่างแบบสมมตินะครับ ว่า สมมติมีข่าวแบบด้านล่างออกมาพร้อมกัน
- หลายประเทศในทวีปแอฟริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
- อเมริกาสามารถทำให้ต้นทุน Shale Oil เหลือ 20USD / Barrel โดยเฉลี่ย
- เวียดนามคิดค้นนวัตกรรมการผลิตข้าวแบบใหม่
- อังกฤษกลับเข้า EU อีกครั้ง
- ราคาทองคำทะลุ 2000 USD
- หุ้นญี่ปุ่นร่วง เนื่องจากปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับประเทศ XX
คำถามคือ ท่านคิดว่าข่าวไหนบ้างกระทบกับตลาดหุ้น?
คืออย่างที่ผมบอกไปว่า ข่าวมันเยอะมากกกก ในแต่ละวัน ดังนั้น ผมจะคิดแค่ว่า อะไรที่กระทบกับ GDP ประเทศใหญ่ (หรือไทย) อย่างมีนัยสำคัญ / จากเหตุการณ์นั้น ทำให้หุ้นหลายๆประเทศวิ่งไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ / สุดท้ายประเทศไทยจะโดนกระทบอย่างไร
สมมตินะครับ เน้นว่าสมมตินะครับ ในตัวอย่างแรก “หลายประเทศในทวีปแอฟริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ” สมมติว่าผมไปหาข้อมูลแล้วพบว่าสัดส่วนการค้าของแอฟริกา ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยเลย คือไม่กระทบกับ GDP ประเทศใหญ่ เวลาผ่านไปสักพัก หุ้นประเทศเหล่านั้นก็ยังนิ่ง ดังนั้น ในแง่ตลาดหุ้น ผมอาจไม่กังวลกับข่าวนี้ก็ได้ (แต่มันก็เป็นเรื่องร้ายแรงอยู่ดีครับ ถ้าเกิดจริง)
หลายๆท่านอาจเริ่มเห็นภาพแล้วนะครับว่า ในอดีต เวลามีข่าวสารร้ายๆ บางข่าวก็ไม่ส่งผลอะไรเลยแบบที่เราคิดนะครับ
**ถึงตรงนี้ ที่ผมเขียน ข้อ 1 และ 2 ผมคิดว่ามันน่าจะช่วยท่านได้ สมมติหากท่านมีความคิด เช่นประมาณว่า**
1 “ตลาดร่วงแรงทั่วโลก แต่หุ้นเราคัดมาดี ไม่มีร่วงแน่นอน”
(ความเห็นผม – เป็นไปได้ครับ แต่ท่านเคยเทสหุ้นที่ถืออยู่ไหมครับ ว่า Beta เท่าไหร่ ในอดีต เคยเคลื่อนไหวอย่างไร ตอนนี้อยู่ตำแหน่งไหนในอุตสาหกรรม ต่างชาติถือเท่าไหร่ อัตราส่วนการเงินเป็นอย่างไร บลาบลาบลาๆๆๆ)
2 “เห้ย ประเทศ xx มันจะฉะกับประเทศ yy แล้ว ขายหุ้นทิ้งด่วน”
(ความเห็นผม – เป็นไปได้ครับ แต่ดูจากพื้นฐานของ 2 ประเทศนั้นแล้วท่านคิดว่ามันจะส่งผลกระทบในวงกว้างแค่ไหนครับ)
3 “น้ำมันขึ้นๆ หุ้นกลุ่มนี้วิ่งฉิวแน่นอน”
(ความเห็นผม – เป็นไปได้ครับ เพราะโดยทั่วไปราคาน้ำมันขึ้น กำไรของบริษัทกลุ่มหนึ่งก็น่าจะเพิ่มขึ้นและส่งผลบวกกับราคาหุ้นครับ แต่ลองดูกระแสโลกหรือยังครับ ว่าเป็นอย่างไร)
ที่ยกตัวอย่างอย่าพึ่งเชื่อทันทีนะครับ แต่อยากให้มาลองพิจารณาหลายๆด้านดูว่าอะไรจะเป็นไปได้แค่ไหนครับ
3. ดูค่า PE Ratio (price to earnings ratio) หรืออัตราส่วนอื่นๆของดัชนีรวมหุ้น
ตรงนี้ผมกำลังจะเสนอตามประสบการณ์ของผม (ไม่ได้มีวิชาการอ้างอิง) ว่า
“ถ้าเราคิดว่าโลกนี้คือประเทศหนึ่ง แต่ละประเทศคือบริษัทแบบ Conglomerate (กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำหลายๆอย่างเช่น warner) การวิเคราะห์ค่า PE ของดัชนีรวมหุ้นก็น่าจะเหมือนๆกับการวิเคราะห์หุ้นรายตัว”
ผมขอนำ quote ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ลงใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่หัวข้อว่า “PE ของหุ้นควรจะเป็นเท่าไหร่” มานะครับ (ขออภัย ผมไม่ได้จดฉบับมา แต่เป็นของปีนี้ครับ) ว่า
“ค่า PE คือ ความถูก – ความแพง ของหุ้นแตะละตัว ควรที่จะต้องแปรผันตาม ‘คุณภาพ’ ของหุ้น”
ตามที่ผมได้รู้มา ค่า PE หุ้นจะเป็นไปตาม ขนาด การเติบโต ความเสี่ยง อุตสาหกรรม ฯลฯ ครับ แต่โดยสรุป ก็ตามคำ ดร.นิเวศน์ แหละครับ เช่น ยิ่งหุ้นดี หุ้นใหญ่ โตเร็วปรี้ด ค่า PE ก็น่าจะสูง ครับ
เนื่องจากการวิเคราะห์ค่า PE สำหรับผม ค่อนข้างจะเป็นเรื่อง Subjective หัวข้อนี้ผมจะไม่พูดเรื่องตัวเลขนะครับ เช่นว่า การเอาจำนวนปีย้อนหลังที่ต่างกัน เช่น 15 หรือ 30 ปีมาคิด ผลลัพธ์ก็ต่างกันมากแล้วครับ
มันก็มีการวิเคราะห์หลายมุมนะครับ เท่าที่ได้ยินมา เช่น
- ดูว่า PE ปัจจุบันสูงหรือต่ำกว่า Average ในอดีตแค่ไหน
- ดูว่าอยู่ในกลุ่มไหน ( Growth / Defensive / Cyclical) อันนี้อาจจะมาวิเคราะห์ได้ว่า อุตสาหกรรมหลักๆของประเทศนั้นคืออะไรความสนใจของต่างชาติคือตรงไหน
- ดูการเติบโต และ คุณภาพคน ของประเทศนั้น
ตัวอย่างเช่น “ประเทศ AA ส่งออกเป็น ….% ของ GDP มีเหมืองถ่านหินจำนวนมาก เทคโนโลยีสูงติด Top 5 ของโลก GDP โตปีละ 3%….. ถ้าเปรียบกับหุ้น จะเป็นหุ้นอะไรดีครับ?”
จากการดูอะไรแบบนี้หลายๆประเทศ เราก็จะได้จุดอ้างอิงว่า ประเทศเราอยู่ตรงไหน คู่แข่งควรจะเป็นใคร แล้วจุดที่ควรจะไปคือตรงไหน และมาจบที่ ค่า PE ควรเป็นเท่าไหร่ เหมือนการวิเคราะห์หุ้นครับ
หรือท่านอาจจะ ใช้ตัววัดตัวอื่น เช่น P/BV ก็ได้ แต่สำหรับผม จะเน้นอะไรที่หาข้อมูลไม่ยากครับ
4. สำหรับท่านที่เป็นสายพื้นฐาน อย่างน้อยอยากให้รู้จัก Technical Analysis สัก 2-3 ตัวครับ
ในความคิดของผม สาย Fundamental และ Technical น่าจะมาบรรจบกันเป็นการวิเคราะห์หุ้น ตามภาพด้านล่างครับ โดยขออธิบายว่า
“ถ้าหากคนเราไร้ซึ่งอารมณ์ กราฟราคา ควรจะเป็นไป ตามเส้นสีเทา คือพื้นฐานหุ้นจะเปลี่ยนไปเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่มากระทบเป็นสเต็บๆ แต่เมื่อคนเรามีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด และ ทำตามอารมณ์หรือไร้เหตุผล กราฟราคาจึงแกว่งอยู่ภายใน ขอบเขตของอารมณ์แบบว่าไม่ดีเกินไปก็ร้ายเกินไป ตามเส้นสีเหลือง จนกลายเป็นกราฟราคาหุ้นที่เห็นกัน ตามเส้นสีน้ำเงินครับ”

ที่จริงมันควรจะมีประเด็นเรื่องอื่นอีกแหละครับที่กระทบตลาดหุ้น แต่ใจความสำคัญในเบื้องต้นที่ผมคิดก็ประมาณนี้ครับ
บ่อยครั้งที่คนเล่นหุ้นน่าจะรู้สึกแบบ เวลาสถานการณ์เป็นใจ หุ้นขึ้น มันขึ้นแบบจรวด ขึ้นแบบงงๆถ้าวิเคราะห์แบบพื้นฐานอย่างเดียว จะมีความรู้สึกแบบว่า เห้ยมันเกินพื้นฐานมาเยอะแล้วนะ แล้วพากันซื้อแบบไม่ลืมหูลืมตา
แต่พอเวลาลง มันเหมือนเดินตกเหว ตั้งตัวไม่ทัน สายพื้นฐานจะมีความรู้สึกประมาณว่า มันลงไปขนาดนี้ได้ไงอ้ะ ทั้งๆที่งบออกจะสวย ตัวนี้แกร่งจะตาย แย่ละ!! เด่วมันจะกลับตัว หรือจะคัทตอนไหนดีเนี่ย สุดท้ายกลายเป็นชาวดอยตามระเบียบ บลาๆๆ
อะไรแบบนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมคิดว่า สายเทคนิคช่วยท่านได้ ตามคำที่ท่านอาจเคยได้ยินว่า
“เลือกหุ้นด้วยพื้นฐาน เทรดด้วยเทคนิค”
ถึงแม้ผมจะถนัดสายพื้นฐานมากกว่า แต่ผมจะใช้วิธีสายเทคนิคที่ใช้ประจำ 2 ตัวคือ
- ตีเส้น Trend Line
- แท่งเทียน (Candlestick Chart Pattern)
ยกตัวอย่าง สมมติผมสังเกตว่าหุ้นตัวนึง ถ้ามีแท่งเทียนเกิด Bearish Engulfing แบบหลักเดือน และ Break Trend Line แบบขาขึ้นเดิม ผมก็ตัดใจขายครับ ถ้าผมเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานที่ผมวิเคราะห์มา confirm เช่นกัน
ถึงเรื่อง Technical ผมจะไม่ค่อยถนัด แต่สำหรับผมนะ มันก็ช่วยผมมาหลายครั้งแล้วครับ ถึงจะมีพลาดบ้างก็ตาม แต่อย่างน้อย มันจะมีหลักคิดเวลาเข้าออกตลาดครับ (อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัว อาจไม่เป็นจริงกับคนอื่นๆครับ)
มาถึงเรื่องการดูตลาดรวม คือผมคิดว่า หากพื้นฐานตลาดมันไม่ชัดเจน จนรู้จะทำยังไง ก็เดินตาม Technical ไปก่อนครับ อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าโยนหัวก้อย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ Subjective (มโนเอาเอง) เป็นอย่างมาก มันขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญในการใช้เลยจริงๆ ว่าใครจะถนัดอะไร อย่างผม ชอบ Candlestick และถูกกับมัน แต่ท่านอาจจะเล่นพวก Wave หรือ เลข Fibonacci ก็ได้ครับ หรือดูเฉพาะความเร่ง/แปรปรวน อย่างเช่น RSI Stochastic ก็ได้ครับ
หากสนใจเรื่อง Technical Analysis เบื้องต้น ลองอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ
“การวิเคราะห์ทางเทคนิค เขียนโดย อาจารย์สุรชัย ไชยรังสินันท์”
โดยผมใส่เป็นลิงค์ช่วงแรกๆไว้ในบทความ ที่ผมสรุปแพทเทิร์นแท่งเทียนตามลิงค์ด้านล่างครับ
https://gornnutagorn.com/2018/04/27/candlestick-chart-80-pattern-cheat-sheet/
5. ขอแนะนำ Pring Turner’s 6 stages of business cycle วงจรเศรษฐกิจ / หุ้น / พันธบัตร / สินค้าโภคภัณฑ์
ในหัวข้อนี้ ผมจะแนะนำคำอังกฤษ 5 คำนะครับ ใช้สับไปมานะครับ คือ
หุ้น – Stock / พันธบัตร – Bond / สินค้าโภคภัณฑ์ – Commodity /
เศรษฐกิจหดตัว – Recession / เศรษฐกิจขยายตัว – Expansion
พูดตามตรง ผมเคยศึกษา แต่ไม่เคยนำตัวนี้มาใช้ในการวิเคราะห์อย่างจริงจัง แต่เห็นมันน่าสนใจดี เลยอยากมาแนะนำครับ หลายๆท่านที่เรียนธุรกิจมา น่าจะเคยได้ยินเรื่อง Business Cycle ว่ามันมีช่วงเริ่ม … ไปจนถึงช่วงอิ่มตัวนะครับ
ในตลาดการลงทุนก็มีนะครับ คือ Pring Turner’s 6 stages of business cycle ตาม 2 รูปด้านล่างนะครับ (รูปที่ 6-7) คือเขาจะกล่าวถึง แต่ละช่วงที่เศรษฐกิจ จาก Recession ไปจนถึง Expansion และกลับมาอีกรอบ ตลาด Stock / Bond และ Commodity จะเป็นอย่างไรบ้างนะครับ ซึ่งดูค่อนข้างเป็นเหตุเป็นผลมากครับ


ในส่วนที่ผมแปลในรูปที่ 2 ผมจะใจความสำคัญบางส่วนจากหนังสือ
“Fusion Analysis: Merging Fundamental and Technical Analysis for Risk-Adjusted Excess Returns 1st Edition by V. John Palicka CFA CMT (Author)”
ซึ่งหากผมแปลไม่ดีหรือไม่ครบถ้วน ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้นะครับ ยังไงสามารถไปหาหนังสือจริงเขามาอ่านได้นะครับ
6. รับมือตลาดหุ้น – มีแผนการเทรดที่ชัดเจน – วางแผนเผื่อพลาด หรือกำหนดจุด cut loss – และทำให้ได้
หัวข้อนี้ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ อาจไม่จำเป็นต้องอ่านแล้วสำหรับหลายๆท่าน แต่ถ้าท่านไหนไม่ได้วางแผนตอนเทรด อยากให้ลองอ่านดูนะครับ
ตามหัวข้อเลยครับ 3 อย่างนี้ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เลยนะครับ และถ้าทำไม่ได้ 5 เรื่องที่ผมพูดมาข้างบน กลายเป็นอากาศไปเลยนะครับ โดยเฉพาะเรื่องการ cut loss ครับเรา มาเริ่มกันที่
“มีแผนการเทรดที่ชัดเจน”
ผมอยากให้ท่านเริ่มจากกำหนดจุดประสงค์ที่แน่นอนก่อนโดยการ รู้จักตัวเองว่าเป็นสายไหนครับ เช่น
- สายเก็งกำไร
- สายเทรดรายวัน
- สาย VI
- สาย Passive
- สายตามเพื่อน
ถ้าท่านรู้ว่าท่านเป็นสายไหน อย่างน้อยท่านก็จะรู้
- Time Frame คร่าวๆในการเทรดของท่าน
- วิธีเลือกหุ้น
เช่นสาย VI บางคน ซื้อหุ้นใหญ่ PE ต่ำเท่านั้น และถือยาว 20 ปี หรือสาย Day Trade คือ เทรดให้จบในวัน และเลือกเฉพาะหุ้น Volume สูง Free Float ต่ำ
คืออยากให้รู้ตรงนี้ก่อน หากไม่รู้ก็ลองไปเรื่อยๆด้วยเงินน้อยๆก่อนครับ คืออยากให้รู้เพราะว่า ท่านจะได้ไม่หลอกตัวเองครับ คือผมเองไม่ได้เชียวชาญ Day Trade สักกะนิด VI ก็ไม่ใช่ ไม่สามารถพูดอะไรแทนเขาเหล่านั้นได้แน่นอน แต่มั่นใจว่า นี่น่าจะเป็นจุดร่วมที่รักเทรดที่มีวินัยน่าจะต้องรู้จักตัวเองครับ
การไม่หลอกตัวเองสำคัญอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆเลยครับ นาย A ซื้อหุ้นพื้นฐานดี อยากปล่อยใน 1 เดือน แต่พอไม่เป็นอย่างทิ่คิดแล้วติดดอย ก็แอบเข้าข้างตัวเองว่า เราเล่นแบบ VI ถือยาวๆได้
ประเด็นของตัวอย่างนี้คือ ถึงแม้จะมีนาย B ที่เป็น VI จริงๆและทำแบบนาย A ทุกอย่าง สุดท้ายไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไร แต่สิ่งที่ต่างกันคือ นาย A นั้นทำผิดแล้วไม่แก้ไข ผมเชื่อว่า กรณีนี้นาย A ไม่สามารถถือหุ้นไปเรื่อยๆได้อย่างสบายใจเหมือนนาย B แน่นอน อีกทั้ง ถ้านาย A ตัดสินใจเล่นแบบ VI แต่แรก ก็อาจไม่ซื้อหุ้นตัวนั้นด้วยซ้ำ …… เรื่องนี้จะนำไปสู่ การเทรดผิดแล้วจะเทรดผิดซ้ำรอยเดิมครับ มาต่อกันที่
“วางแผนเผื่อพลาด หรือกำหนดจุด cut loss”
หากท่านไม่เคยพลาดในตลาดหุ้นนั่นก็ไม่เป็นไร แต่นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ครับ เซียนเคยเจ็บทุกคน ไม่มากก็น้อยครับ ต่อจากเรื่องแรก ในกรณีที่ท่านรู้ว่าตัวเองเทรดผิด แล้วอยากแก้ไข สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือ ตัดขาดทุน แต่ถ้าไม่เคยหรือไม่กล้า ….จะตัดยังไงดีหละ?? ….. ลองค้นในกูเกิ้ลดูครับ มีหลายวิธีมาก ตามสไตล์ที่ท่านเล่นเลยครับ การตัดขาดทุน ด้วยแผนที่วางไว้ จะทำให้เรา “เจ็บแล้วจำ” ครับ เนื่องจาก ท่านตั้งใจทำด้วยตัวท่านเอง ท่านจะรู้ตัวตลอดว่าทำไปเพราะอะไร และคราวหน้า ท่านจะระวังในเรื่องเดิม แต่ถ้าตัดขาดทุนแบบจำยอม (หรือดอยแบบไม่ไหวแล้ว) มีความเป็นไปได้มากกว่าว่าท่านจะไม่รู้ว่า ทำไมถึงต้องคัททิ้ง การคัทมันให้บทเรียนอะไรบ้าง นอกจากเสียเงินแล้ว จะไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงด้วยครับ
สำหรับท่านที่ไม่รู้จริงๆ ว่าจะวางแผนเผื่อพลาดยังไง ผมจะยกตัวอย่าง วิธีแรกที่ผมเคยใช้ หลังจากเคยเจ็บหนักครับ
- คิดก่อนว่า ตัวเองมีเงินที่สามารถเสียไปได้กี่บาท
- ประเมินสไตล์และความสามารถตัวเองก่อนว่า ถ้าพอร์ทขาดทุน X % แล้วจะคัททันที หรือแปลว่าตัวเองคิดผิดหรือศึกษาหุ้นพลาดชัวร์ๆ ให้กลับไปศึกษาใหม่
- เอา เงินที่ว่าไปหาร X % เพื่อตั้งวงเงินการเทรด
- ถ้าเกิดกรณีที่เลวร้ายขนาดนั้นจริง ก็ต้อง คัทตามที่ตัวเองคิดไว้
สมมตินาย A สามารถเสียเงินได้ 20,000 บาท ในการเล่นหุ้น และคาดว่าสิ่งที่ตัวเองวิเคราะห์ ไม่ควรขาดทุน 25% ของพอร์ท ในกรณีที่แย่ที่สุด ดังนั้น วงเงินการเทรดน่าจะเป็น 20,000/0.25 = 80,000 ครับ โดยที่ถ้าขาดทุน 20,000 ให้ล้างพอร์ททันที อะไรประมาณนี้ครับ
อาจดูเป็นเงินไม่มากครับแต่อยากให้ลองดูก่อนเพื่อการศึกษาครับ จากนั้นค่อยๆปรับวิธีก็ได้ครับ
นอกจากนี้หากท่านระดับสูงแล้ว อาจจะมีวิธีใช้ Derivative ลดความเสี่ยงก็ได้ อันนั้นค่อนข้างจะ Advance ซึ่งผมก็ไม่ค่อยรู้ครับ แต่นั่นก็น่าจะหมายความว่า Cut Loss เป็นเรื่อง ง่ายๆสำหรับท่านไปแล้ว สบายครับ
สุดท้ายแล้ว
“ทำตามที่วางแผนให้ได้ครับ”
คำสั้นๆ ที่ยากที่สุดของนักลงทุนแล้วครับ
เรื่องทั้งหมดก็สรุปได้ไม่กี่บรรทัดแบบนี้นะครับ
เริ่มจากคิดก่อนว่าอยากเทรดแบบไหน (ถ้าแนวเทคนิคล้วน ก็ข้ามเรื่องที่ว่ามาทั้งหมดได้เลยครับ) ดูดัชนีต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศหลักๆ ว่าไปทางไหน บวกกับดูปัจจัย +/- แต่ละประเทศรวมประเทศไทยที่กระทบกับ GDP เฉพาะประเด็นใหญ่ๆ จากนั้นทำการเทียบอัตราส่วนทางการเงิน ตัวเลขต่างๆ พร้อมยืนยันด้วย Technical Analysis เสร็จแล้ว วางแผนเลือกหุ้น เตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมเงินให้ดี พอเข้าเทรด ให้จดบันทึก วัดผลตัวเอง และข้อผิดพลาด เอาข้อผิดพลาดมาแก้ไขให้หมด วนลูปไปเรื่อยๆ ผมเองก็ทำอยู่ประมาณนี้แหละครับ
บทความนี้ ในอีกทางหนึ่งเหมือนกับผมเล่าประสบการณ์การศึกษากลยุทธการเล่นหุ้นของตัวเองในทางหนึ่ง หากท่านคิดว่าไม่เกี่ยวกับการจับสัญญาณตลาดเลย ก็อยากขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ คือผมตั้งต้นจากเรื่องที่ผมพูดมาทั้งหมด ค่อยๆมาพัฒนาวิธีการเล่นและจับจังหวะตลาดด้วยตัวผมเอง โดยใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน ผมไม่รู้ว่าตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้มันจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน แต่การวิเคราะห์แบบข้างต้น มันแนะนำด้วยตัวของมันเองว่า ควรทำอะไรต่อไป รวมถึงแก้ข้อผิดพลาดที่เก็บสะสมมาครับ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ
สวัสดีครับ
Created by : GornNutagorn
ช่องทางอื่นๆของ GornNutagorn
Facebook : https://www.facebook.com/GornNutagorn/
Youtube : www.youtube.com/c/GornNutagornChannel
#####################################
www.grocerlock.com (คลิกเพื่อเข้าเว็บ)
ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ ขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
ขายปลีก-ส่ง / ต่อรองได้ / ส่งทั่วประเทศ
FB อินบ้อกได้ที่ : https://www.facebook.com/grocerlock(คลิกเพื่อส่งข้อความทางอินบ็อกซ์)
ซื้อผ่านไลน์ได้ที่ Line ID : @grocerlock (คลิกเพื่อเพิ่มเพื่อน)
#####################################
Reference
https://www.investing.com
https://www.set.or.th
http://www.imf.org/en/Data
https://www.scbeic.com/th/detail/product/1588
https://datacatalog.worldbank.org/dataset/world-development-indicators
https://www.set.or.th/education/th/begin/stock_content07.pdf
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99
http://econ.tu.ac.th/class/archan/napon/EC212_2-56/Lecture/EC212_2_56_Chapter2.pdf